แก่งบางระจัน

พายเรือชมแมงกะพรุนน้ำจืด เป็นกิจกรรมเฉพาะฤดูกาล ที่สามารถหาชมได้บนเขาค้อเพียง 2 เดือนในฤดูร้อนเท่านั้น คือเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำในลำน้ำเข็ก มีการไหลเวียนน้อย เปิดโอกาสให้แมงกะพรุนน้ำจืดตัวน้อยเท่าเหรียญสิบนับร้อยนับพันตัว ได้กระดื้บ แหวกว่าย อวดสายตาผู้มาเยือน นอกจากนี้ยังได้ชมเหล่าผีเสื้อนานาพันธุ์ และพันธุ์ไม้แปลกตาริม 2 ฝั่งลำน้ำ

ถือว่าเป็นกิจกรรมที่พิเศษสุดๆ ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งไม่ได้ร้อนมากมายนักสำหรับที่สูงบนภูเขาอย่างเขาค้อ การพายเรือล่องลำน้ำเข็ก ที่บ้านหนองแม่นา น่าจะทำให้เกิดความประทับใจกับเขาค้อมากขึ้น เพราะนอกจากแมงกะพรุนน้ำจืด ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในโลกแล้ว ยังเพลินกับการล่องเรือชมความสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยใดๆ เพราะชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ชำนาญการในพื้นที่ เป็นผู้อาสาพายเรือ และเป็นไกด์แนะนำเรื่องราวต่างๆ ได้ตลอดเส้นทาง พร้อมกับเสื้อชูชีพ ป้องกันอุบัติเหตุด้วย

ตลอดเส้นทางพายเรืออันร่มรื่น เจ้าหน้าที่จะแนะนำพันธุ์ไม้แปลกๆ ข้างทางให้ท่านรับทราบ หลายพันธุ์ถือเป็นไม้พื้นเมือง และสมุนไพรประจำถิ่น  ที่ขึ้นอยู่ริมลำน้ำเข็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าอันสมบูรณ์ของทุ่งแสลงหลวง บนแก่งที่สามารถชมแมงกะพรุนน้ำจืด ยังมีผีเสื้อนานาพันธุ์ หลายร้อยตัว บินอวดโฉม อย่างคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยว หลายชนิดเป็นพันธุ์ที่จัดเป็นผีเสื้อหายาก

สำหรับแมงกะพรุนน้ำจืด มีลักษณะคล้ายกับแมงกะพรุนน้ำเค็ม แต่จะมีเนื้อเยื่อขยายจากขอบเข้ามาข้างในตัวเป็นลักษณะคล้ายวงแหวนที่เรียก ว่า “Velum” มีขนาดเล็กกว่าแมงกะพรุนน้ำเค็ม และมีหนวดรอบขอบตัวประมาณ 50-500 เส้น ตัวใหญ่สุดมีขนาดเท่าเหรียญกษาปณ์

แมงกะพรุนน้ำจืดน่าจะเป็นสัตว์ประจำถิ่นของไทยมานานแล้ว โดยชาวบ้านบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า “แมงยุ้มวะ” ซึ่งเป็นภาษาถิ่น หมายถึงอาการหุบเข้าออกของขอบตัวเวลาที่มันเคลื่อนที่ โดยมีรายงานการพบครั้งแรก  ในแม่น้ำโขง   ที่บ้านคกไผ่ อ.เชียงคาน จ.เลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 หลัง จากนั้นก็มีราย งานการพบแมงกะพรุนน้ำจืดจากอีกหลายแหล่ง เช่นในแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเลยจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี  ในลำน้ำเข็กทั้งในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์และพิษณุโลก ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และในอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เป็นต้น แต่ที่สามารถพบเห็นได้เป็นประจำในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ของทุกปี คงมีเพียงแค่ในแม่น้ำโขงตั้งแต่ จ.เลย  จนถึง จ.อุบลราชธานี และในลำน้ำเข็กทั้งในเขต จ.เพชรบูรณ์ และพิษณุโลกเท่านั้น

สาเหตุที่เราสามารถพบเห็นแมงกะพรุนน้ำจืดได้ในช่วงเดือนมีนาคม-ต้นเดือนพฤษภาคม ของทุกปี เนื่องจากวงจรชีวิตของสัตว์ชนิดนี้มี 2 ช่วง โดยสัตว์ชนิดนี้จะอาศัยอยู่ตามน้ำตื้นที่มีพื้นท้องน้ำที่เป็นของแข็งเช่น ตามแก่งหินของต้นน้ำลำธารที่น้ำค่อนข้างเย็น อุณหภูมิน้ำต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนมิถุนายน- กุมภาพันธ์นี้ แมงกะพรุนน้ำจืดจะอยู่ในช่วงพักตัวโดยมีรูปร่างเป็นแท่งมีแฉกซึ่งขนาดเล็ก มาก เกาะอยู่บนพื้นหิน (Polyp) และจะขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ (Asexual) ด้วยการแตกหน่อ จนเมื่อน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น (ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม) จึงพัฒนาตัวเองให้ลอยไปตามน้ำ (Medusa) เพื่อผสมพันธุ์ทำให้เราสามารถพบเห็นแมงกะพรุนน้ำจืดได้ การขยายพันธุ์ในช่วงนี้จะผสมพันธุ์แบบใช้เพศ (Sexual) โดยเพศผู้จะปล่อยน้ำเชื้อมาผสมกับไข่ที่เพศเมียปล่อยออกมา หลังจากนั้น ตัวอ่อนก็จะจมลงเกาะตามพื้นเข้าสู่ช่วงพักตัวต่อไป

 

Visitors: 268,055